ประวัติรัชกาลที่10
พระนามรัชกาลที่ 10
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ประวัติรัชกาลที่ 10
พระนามเดิมของพระองค์ เดิมว่า สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเวลา ๑๗ นาฬิกา ๔๕ นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
การศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๙๙ –๒๕๐๕ ที่ประเทศอังกฤษระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๙ – ๒๕๑๓
หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย แล้วเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (การศึกษาด้านทหาร) คณะการศึกษาด้านทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ ๕-๖ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๑ และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ครั้นถึง พ.ศ.๒๕๓๓ ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย
เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ปวงชนชาวไทยต่างมีความปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร”
ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรอย่างยิ่ง
พระราชกรณียกิจ
ด้านการกีฬา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เองนานัปการ เช่น การพระราชทานไฟพระฤกษ์ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จนำเกียรติยศมาสู่ประเทศ ชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดี ซึ่งนักกีฬาของไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความปลาบปลื้มในสิริมงคลและมีขวัญกำลังใจที่จะนำความสำเร็จและนำเกียรติยศ มาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติต่อไป และเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน เป็นการเสริมสรางพลังใจให้นักกีฬาเกิดความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานและชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ทำให้นักกีฬาไทยประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ด้านการพระศาสนา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และมีพระราชศรัทธาทรงออกผนวชในพระบวรพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ระหว่างทรงผนวช ทรงศึกษา และปฎิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนาเป็นประจำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่างๆ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศล ในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ และยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนาอีกมากมาย พระองค์ยังเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เปิดงานเมาริดกลางของศาสนาอิสลาม และร่วมกิจกรรมส่งเสริมคริสต์ศาสนา ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาซิกซ์
ด้านการศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 โรงเรียนได้แก่โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา จังหวัดนครพนม กำแพงเพชร สุราษฎร์ธานี โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี จังหวัดอุดรธานี สงขลา และ ฉะเชิงเทรา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าสิริวัณวรี พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆ เสมอทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยที่ทรงพระเมตตาห่วงใยเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และในด้านอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ปีละเป็นจำนวนมากทุกปี ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) “เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนผู้ยากไร้แต่เรียนดี ความประพฤติดี ให้ได้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบปริญญาตรี และจนถึงขั้นสูงสุดตามความสามารถของผู้รับทุน เพื่อเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีคุณภาพ” และทรงเน้นย้ำว่า“เมื่อทําโครงการมาแล้ว จําเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทํางานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทํางานต่อเนื่อง
วิดีโอเพลงสดุดีจอมราชา
หน้าที่ของนักเรียนต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
1. เป็นคนดีของสังคม คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
2. มีทัศนคติและค่านิยมที่ดีต่อสังคม
3. ปฎิบัติตนตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย
แหล่งที่มา
ประวัติรัชกาลที่ 10 https://news.mthai.com/webmaster-talk/525488.html
วิดีโอเพลงสดุดีจอมราชา https://www.youtube.com/watch?v=nmTWXUoUcxo
ทรงพระเจริญ
ตอบลบ